บทความที่ได้รับความนิยม

การประชาสัมพันธ์กับงานบริการ


การประชาสัมพันธ์กับงานบริการ



              บริการสารสนเทศถือว่าเป็นหัวใจของงานห้องสมุด ห้องสมุดจึงจัดบริกา สารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ทุกวิธีและหลายรูปแบบ โดยจัดบริการสารสนเทศทั้งรูปของสิ่งพิมพ์ และในรูปของอิเล็กทรอนิกส์ การให้บริการเหล่านี้จะเกิดประสิทธิผลได้นั้น ห้องสมุดต้องมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี จึงจะทำให้ผู้ใช้มาใช้บริการสารสนเทศของห้องสมุด

ความหมายของการประชาสัมพันธ์

ความหมายของการประชาสัมพันธ์ ( Public  Relation ) มีนักวิชาการให้ความหมายไว้ดังนี้
               ตามความหมาย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมาย คือ " การติดต่อสื่อสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการนี้ "
               การประชาสัมพันธ์ ( Public  Relation ) หมายถึง การบอกให้เข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ สนับสนุนในกิจกกรม อันเป็นประโยชน์ให้กับหน่วยงาน
                เสกสรร  สายสีสด ( 2545, 2 ) กล่าวไว้ว่า การประชาสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันธ์กับหมู่คน หรือการดำเนินงานต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจอันดี การประสานงานระหว่างผู้ดำเนินงาน ผู้เกี่ยวข้อง และบุคคลทั่วไป
                สรุป การประชาสัมพันธ์ คือ วิธีการของสถาบันอันมีแผนการและการกระทำที่ต่อเนื่องกันในอันที่จะสร้างหรือทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มประชาชน เพื่อให้สถาบันและกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ความเข้าใจและให้ความสนับสนุนร่วมมือซึ่งกันและกัน อันเป็นประโยชน์ให้สถาบันนั้นๆ ดำเนินงานให้ได้ผลดีสมความมุ่งหมายโดยมีประชามติเป็นแนวบรรทัดฐาน

การประชาสัมพันธ์กับงานบริการ
ความหมายของการประชาสัมพันธ์กับงานบริการ
                การประชาสัมพันธ์ห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ หรือการประชาสัมพันธ์งานบริการสารสนเทศของห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ จึงนับว่าเป็นงานที่สำคัญอย่างหนึ่งของห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ ที่ผู้บริหาร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานควรให้ความสนใจ การเผยแพร่ให้ผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดว่ามีอะไรบ้างที่ให้บริการแก่ผู้ใช้ เพื่อจะได้มารับบริการต่างๆ อย่างเต็มที่ และจะต้องสร้างความเชื่อถือ ความทรัทธา ความเข้าใจอันดีต่อห้องสมุดให้เกิดแก่ผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้อง อันจะก่อให้เกิดการประสานงานและความร่วมมืออันดีต่อกัน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้บริหารของหน่วยงานต้นสังกัด โดยอาศัยสื่อต่างๆเข้ามาช่วยในการประชาสัมพันธ์
             
วัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์งานบริการ                                                                             เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบว่าห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศมีกิจกรรมหรือบริการอะไรบ้างและขอรับบริการได้อย่างไร
1. เพื่อแนะนำให้รู้จักและเข้าใจกิจกรรมที่จัดขึ้น
2. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทัศนคติที่ถูกต้องและดีงามต่อหน่วยบริการสารสนเทศรวมถึงห้องสมุด
3. เพื่อแก้ไขทัศนคติผิดๆ ต่อหน่วยบริการสารสนเทศ รวมถึงห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องและดีงาม เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมักจะขยายไปในทางเสียหาย
4. เพื่อให้ได้รับความสนับสนุนทางด้านแนวความคิด วิธีการ และงบประมาณจากหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง
5. เพื่อให้ผู้ใช้ตื่นตัวและเห็นคุณค่าของหน่วยบริการสารสนเทศ ตลอดจนห้องสมุดหรือศูนย์สารสนเทศ 6. เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันระหว่างผู้บริหาร ผู้ร่วมงาน ผู้ใช้ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการสารสนเทศ
7. เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้บริการแต่ละงานที่จัดไว้ให้บริการ

การดำเนินการประชาสัมพันธ์                                                                                                            การดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมงานบริการสารสนเทศ สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะ คือ การประชาสัมพันธ์ภายใน และการประชาสัมพันธ์ภายนอก
1. การประชาสัมพันธ์ภายในการประชาสัมพันธ์บุคคลภายใน คือ การสร้างความเข้าใจวงการเดียวกันในเรื่องต่อไปนี้
1.1 ลักษณะงานและนโยบายของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ ชี้แจงให้ทราบว่าเป็นห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศประเภทใด มีลักษณะงานและนโยบายอย่างไร
1.2 การดำเนินงานห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ ว่ามีการดำเนินงานอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง เช่น วิธีการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศ กำหนดเวลาทำการ ฯลฯ
1.3 บริการของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ บอกให้ทราบว่ามีบริการอะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร ผู้ใช้จะใช้บริการได้อย่างไร
1.4 ความร่วมมือที่ห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศต้องการจะได้รับจากผู้ใช้ เช่น ให้ตรวจสิ่งของก่อนออกจากห้องสมุด ไม่ส่งเสียงดัง ฯลฯ
1.5 ผลงานของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ เช่น สถิติการยืม - คืน สถิติการใช้บริการประเภทต่างๆ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ห้องสมุด ฯลฯ
2. การประชาสัมพันธ์ภายนอกห้องสมุด การประชาสัมพันธ์ภายนอกห้องสมุดหรือการประชาสัมพันธ์แก่บุคคลทั่วไป หมายถึง บุคคลที่ยังไม่รู้จักห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ ให้ทราบถึงประโยชน์ และความสำคัญของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ โดยสร้างความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ คือ
2.1 วัตถุประสงค์และความสำคัญของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ
2.2 ความเคลื่อนไหวและความก้าวหน้าในกิจกรรมต่างๆ ของห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ                   2.3 ประโยชน์ที่เกิดแก่ส่วนรวมในการสนับสนุนกิจกรรมห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ                                                                                                                                                                                          

กระบวนการประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ                                                                                                                                                                                              
1.  การศึกษาสำรวจวิจัย เป็นขั้นตอนแรกของการประชาสัมพันธ์กล่าวคือการจะดำเนินการต่างๆ จะต้องศึกษา สำรวจ วิจัย ปัญหา ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ ประชาชน ชุมชน หน่วยงานต่างๆ ว่ามีแนวคิดเกี่ยวกับงาน คน หน่วยงานต่างๆ ของเราในทางบวก ทางลบอย่างไร ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อมูล ในการดำเนินการขั้นต่อไป                                                                      
 2.  การวางแผน เมื่อทราบปัญหา ทัศนคติต่างๆ แล้ว จะต้องมีการวางแผนว่าจะดำเนินการ รณรงค์อย่างไร เช่น วัน เวลา สถานที่ดำเนินการ กิจกรรมการใช้วัสดุ อุปกรณ์ กำลังคน งบประมาณ ฯลฯ เพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์                          
 3.  การดำเนินการ เป็นขั้นตอนในการใช้สื่อ ช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การนำชมสถานที่ จัดหน่วยประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ เผยแพร่ข่าว กิจกรรม ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ฯลฯ                                                                                                
  4.  การประเมินผล สามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ตลอดเวลาทั้งก่อนดำเนินการ ในระหว่างดำเนินงาน หรือสิ้นสุดโครงการแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมนั้นประสบผลสำเร็จ   ตามวัตถุประสงค์ดีที่สุด


องค์ประกอบของการสื่อสาร การติดต่อสื่อสารมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการ คือ
            1. ผู้ส่งสาร (Source)จะต้อง 
                1.1  มีความรู้ คือจะต้องรู้เรื่อง -การประชาสัมพันธ์และมีทักษะ ประสบการณ์การสื่อสาร ถ่ายทอดพอสมควร -บทบาท หน้าที่ ภารกิจหน่วยงานของเรา -หน้าที่หลัก หน้าที่รอง ของเรา -งานที่เราจะไปดำเนินการ และสภาพชุมชน แวดล้อมต่างๆ 
                1.2  มีความเข้าใจ คือจะต้องเข้าใจ -จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส อุปสรรค ในการดำเนินงาน -เจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงานมีความเข้าใจ สามารถอธิบาย ชี้แจง โต้ตอบได้ และมีเป้าหมายการทำงานอันเดียวกัน -ขีดจำกัดในการดำเนินงาน เช่น กำลังคน งบประมาณ กฎระเบียบ ฯลฯ 
            2 เนื้อหา (Message)จะต้อง 
                  -ศึกษา ค้นคว้า เนื้อหาสาระให้แม่นยำ สามารถอ้างอิงได้
                  -สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ 
                     -สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานกับหน่วยงานอื่น
            3. ช่องทางการสื่อสาร (Channel) มีมากมาย เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การแข่งขัน การประกวด การพาชมสถานที่ การจัดหน่วยชุมชนสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งการจะใช้ ช่องทางใดในการสื่อสารนั้น ควรคำนึงถึ
                  3.1 ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ชุมชน ผู้คน 
                  3.2 การรับรู้ ความเข้าใจของผู้คน 
                  3.3 ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การเกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัด
             4ผู้รับสาร (Receiverมีความสำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นจุดสุดท้ายในการสื่อสาร ซึ่งสามารถประเมินผลได้ว่า  การประชาสัมพันธ์นั้นประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือไม่
               
สื่่อประชาสัมพันธ์               
                 คือหนทางหรือวิถีทางในการนำข่าวสารที่ต้องการประชาสัมพันธ์จากผู้ส่งไปสู่ผู้รับ ในปัจจุบันสื่อในการประชาสัมพันธ์มีมากมายและหลากหลาย อันเป็นผลเนื่องมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี่ของโลก อย่างไรก็ตามสามารถแบ่งสื่อประชาสัมพันธ์โดยพิจารณาตามลักษณะของสื่อ ได้เป็น 5 ประเภทคือ
1.สื่อบุคคล
           หมายถึงตัวบุคคลที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ สู่บุคคลอื่น สื่อบุคคลจัดได้ว่าเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงในการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโน้มน้าวจิตใจ เนื่องจากติดต่อกับผู้รับสารโดยตรง ส่วนใหญ่อาศัยการพูดในลักษณะต่างๆ เช่น การสนทนาพบปะพูดคุย การประชุม การสอน การให้สัมภาษณ์ การโต้วาที การอภิปราย การปาฐกถา และการพูดในโอกาสพิเศษ ต่างๆ แต่สื่อบุคคลก็มีข้อจำกัดคือ ในกรณีที่เนื้อหาเป็นเรื่องซับซ้อน การใช้คำพูดอย่างเดียวอาจไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ทันที และเป็นสื่อที่ไม่ถาวร ยากแก่การตรวจสอบและอ้างอิง นอกจากจะมีผู้บันทึกคำพูดนั้นๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือบันทึกเสียงเอาไว้
2.สื่อมวลชน
        จากข้อจำกัดของสื่อบุคคลที่ไม่สามารถใช้เป็นสื่อกลางถ่ายทอดข่าวสารเพื่อการประชาสัมพันธ์สู่คนจำนวนมากพร้อมกันในเวลาเดียวกันอย่างรวดเร็ว มนุษย์จึงได้พัฒนาเทคโนโลยี่การสื่อสาร และเกิดเป็นสื่อมวลชนเพื่อมารับใช้ภารกิจดังกล่าว สื่อมวลชนอาจแบ่งประเภทตามคุณลักษณะของสื่อได้เป็น 5 ประเภท คือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2532)
         ทั้งนี้ สื่อหนังสือพิมพ์และนิตยสารมีความคงทนถาวร สามารถนำข่าวสารมาอ่านใหม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลที่ตาบอดหรืออ่านหนังสือไม่ออก
        ส่วนสื่อวิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อที่ส่งไปได้ไกลเพราะใช้คลื่นวิทยุ ไม่มีข้อจำกัดด้านการขนส่งเหมือนหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร และสามารถรับฟังในขณะที่ทำงานอย่างอื่นไปด้วยได้ แต่มีข้อจำกัดคือ ผู้ฟังไม่สามารถย้อนกลับมาฟังได้ใหม่อีก ดังนั้นหากมิได้ตั้งใจฟังในบางครั้งก็ทำให้ได้ข่าวสารที่ไม่สมบูรณ์
       สื่อวิทยุโทรทัศน์ และภาพยนตร์ จัดเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากที่สุด เนื่องจากสามารถเห็นภาพเคลื่อนไหวและได้ยินเสียง ทำให้การรับรู้เป็นไปอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่ง แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้
3. สื่อสิ่งพิมพ์
      เป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ที่หน่วยงานเป็นผู้ผลิตและเผยแพร่ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ด้วยวัตถุประสงค์ในการผลิตและรูปแบบของสิ่งพิมพ์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ที่ไม่ได้เย็บเล่ม เช่น แผ่นปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ จดหมายข่าว เป็นต้น หรือที่เย็บเป็นเล่ม เช่น วารสาร เอกสารเผยแพร่ หนังสือในโอกาสพิเศษ รายงานประจำปี เป็นต้น ปัจจุบันความนิยมในการใช้สื่อประเภทสิ่งพิมพ์เพื่อการประชาสัมพันธ์นี้มีอยู่มากและมีรูปแบบที่หลากหลายออกไปอีกมากมาย เช่นในรูปปฏิทิน รูปลอก สมุดบันทึก ซึ่งล้วนแต่เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอายุการใช้งานนาน แต่มีข้อจำกัดในเรื่องการนำเสนอเนื้อหาซึ่งต้องให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย เช่นแผ่นพับที่เขียนด้วยภาษาวิชาการ ถ้าส่งไปให้ประชาชนในชนบท อาจจะไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ต้องการประชาสัมพันธ์ได้เลย
4. สื่อโสตทัศน์
        เป็นสื่อที่ผู้รับสามารถรับได้ทั้งภาพ และหรือเสียง โดยปกติสื่อโสตทัศน์แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นสื่อวัสดุ และส่วนที่เป็นสื่ออุปกรณ์ โดยสื่อวัสดุอาจจะสามารถใช้ได้ด้วยตัวเองโดยตรง เช่น ภาพวาด แบบจำลอง หรือของตัวอย่าง หรืออาจต้องนำไปใช้ร่วมกับสื่ออุปกรณ์ เช่นเทปบันทึกเสียง เทปวีดีทัศน์ ฟิล์มภาพยนต์ แผ่นดิสเก็ต แผ่นซีดีรอม เป็นต้น ส่วนที่เป็นสื่ออุปกรณ์ได้แก่ เครื่องเล่นเทปบันทึกเสียง เครื่องเล่นวีดีทัศน์ เครื่องฉายภาพยนต์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
โดยภาพรวมแล้ว สื่อโสตทัศน์มีข้อดีคือมีความน่าสนใจ เป็นสื่อที่คงทนถาวร นำมาใช้ได้บ่อยครั้ง และสามารถคัดลอกเพื่อนำไปใช้ที่อื่นได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้อุปกรณ์ซึ่งบางประเภทมีราคาแพง และต้องมีความรู้ในการใช้ และจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ เป็นแหล่งพลังงาน
        ในปัจจุบันนี้ คอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการติดต่อสื่อสารและในงานประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์โดยใช้สื่อผสม (Multi-media) ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นสื่อที่สามารถดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดีเนื่องจากให้ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ที่สมจริงเป็นธรรมชาติ และผู้รับยังสามารถมีส่วนร่วมและตอบสนองต่อสื่อดังกล่าวได้ ส่วนข้อจำกัดคือมีความยุ่งยากในการจัดเตรียมอุปกรณ์ ผู้รับต้องมีความรู้ในการใช้คอมพิวเตอร์พอสมควร และต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน
        นอกจากนี้ ในยุคที่โลกไร้พรมแดน การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต (Internet) ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพลโลกในอนาคตอันใกล้นี้ โดยอินเตอร์เน็ตมีข้อดีคือสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วทุกมุมโลกได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการสื่อสารสองทางที่ผู้รับสามารถโต้ตอบเพื่อซักถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือข้อมูลที่ไม่เข้าใจได้โดยตรงผ่านทางระบบจดหมายอิเลคโทรนิค (E-mail)
5. สื่อกิจกรรม
       ปัจจุบันสื่อนี้มีความหมายขยายขอบเขตกว้างขวางไปถึงกิจกรรมที่สามารถสื่อความรู้สึกนึกคิด ความรู้ อารมณ์ และเรื่องราวข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ สื่อประเภทกิจกรรมมีได้มากมายหลายรูปแบบ เช่น การจัดประชุม สัมมนา ฝึกอบรม การแถลงข่าว การสาธิต การจัดริ้วขบวน การจัดนิทรรศการ การจัดแข่งขันกีฬา การจัดแสดง การจัดกิจกรรมทางการศึกษา การจัดกิจกรรมเสริมอาชีพ การจัดกิจกรรมการกุศล เป็นต้น สื่อกิจกรรมนี้สามารถปรับปรุงดัดแปลงแก้ไขให้ยืดหยุ่น เหมาะสมกับโอกาสและสถานการณ์ได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดคือ ผู้รับมีจำนวนจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ร่วมกิจกรรมนั้นๆ เท่านั้น
6.สื่อสมัยใหม่ (Modern Media)
สื่อสมัยใหม่ เป็นสื่อที่นิยมใช้กันในยุคสังคมข่าวสาร หรือยุคสารสนเทศ (Information Age) ที่กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalizalion)   ประเภทของสื่อสมัยใหม่ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์
1. ดาวเทียม (Sattelite) หรือ สถานีทวนสัญญาณไมโครเวฟที่ลอยอยู่เหนือพื้นโลก ใช้ในการสื่อสารระหว่างประเทศ
2. อินเตอร์เน็ต (Internet) ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนเราเป็นอย่างมาก ตลอดจนในสังคมและในหน้าที่การทำงาน อาชีพต่างๆ แม้แต่การประชาสัมพันธ์ก็นำอินเตอร์เน็ตมาใช้เพื่อการติดต่อสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ที่จัดทำขึ้นบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งถือว่าเป็นสื่อสมัยใหม่ที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ อินเตอร์เน็ตที่ใช้ทำการประชาสัมพันธ์ ส่วนใหญ่ผ่านทาง E-mail หรือระบบจดหมายอีเลคทรอนิคส์ และระบบข้อมูลจาก World Wide Web (WWW) โดยการจัดทำเป็น Wedsite มองแต่ละแห่งให้ผู้เปิดดูเข้าไปดู และติดตามข้อมูลต่างๆ ได้
7.อื่นๆ ได้แก่ หอกระจายข่าว
           หอกระจายข่าว เป็นสื่อกระจายเสียงที่ถูกจัดตั้งใช้ในพื้นที่ขนาดเล็ก ภายในชุมชน  ซึ่งใช้ในการสื่อสารกับชาวบ้าน โดยมีหลายหน่วยงานใช้หอกระจายข่าวเป็นสื่อกลาง โดยส่งเทป แผ่นพับ ใบปลิว จดหมาย ข่าวหรือบทความ รวมทั้งหนังสือมาให้ผู้ดำเนินงานหอกระจายข่าวช่วยเผยแพร่  หอกระจายข่าวไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ทำให้หอกระจายข่าวมีการถูกครอบครองน้อยกว่าสื่อประเภทอื่น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเสมือนการบังคับใช้ชุมชนต้องเข้ามาจัดการบริหารงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ข้อด้อย หน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนไม่เพียงพอกับความต้องการ ผู้ดำเนินงานหอส่วนใหญ่ดำเนินการไม่ต่อเนื่อง และผู้ดำเนินรายการก็ได้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ทำให้การดำเนินงานหอกระจายข่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร